วิทยาลัยทองสุข ร่วมกับ สมาคมผู้ไกล่เกลี่ยไทยจัดการอบรมเพื่อทบทวนความรู้และเพิ่มพูนทักษะในหัวข้อ “การนำแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา”
กิจกรรมการอบรมเพื่อทบทวนความรู้และเพิ่มพูนทักษะในครั้งนี้ ดร.พรจิต อรัณยกานนท์ อธิการบดี วิทยาลัยทองสุข ร่วมกับ ดร.โฆสิต สุวินิจจิต นายกสมาคมผู้ไกล่เกลี่ยไทย ได้รับเกียรติจากอาจารย์ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันการศึกษาและพัฒนาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (ส.พ.ส.) และเคยดำรงตำแหน่งผู้ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเป็นวิทยากรการอบรมเพื่อทบทวนความรู้และเพิ่มพูนทักษะในหัวข้อ “การนำแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา” โดยจัดฝึกอบรม วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 15.00 น.ณ ห้องประชุม 109 วิทยาลัยทองสุข ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการกล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรมทั้ง 52 คนและคณะวิทยากร
ทั้งนี้ การอบรมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการจัดอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒ ที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติรับรอง รุ่นที่ ๑ – ๓ ของวิทยาลัยทองสุขที่ผ่านมานั้น ทางวิทยาลัยทองสุขในฐานะสถาบันการศึกษาที่เป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมฯ ดังกล่าวได้เห็นความสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนโดยเฉพาะในภาคปฏิบัติทั้งในการดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยและการจัดทำเอกสารต่าง ๆ ตามกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้น ๆ วิทยาลัยทองสุขจึงเห็นควรให้มีการจัดอบรมทบทวนความรู้และเพิ่มพูนทักษะในหัวข้อ “การนำแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา” เพื่อให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนของผู้ไกล่เกลี่ยที่ผ่านการอบรมฯ จากวิทยาลัยทองสุขและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้องเที่ยงตรงและจะเป็นพื้นฐานสำหรับการอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒ ที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติรับรองต่อไปในอนาคต
สำหรับวัตถุประสงค์ที่สำคัญในครั้งนี้ก็คือ เพื่ออบรมทบทวนความรู้และเพิ่มพูนทักษะในหัวข้อ “การนำแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา” ให้กับผู้ผ่านการอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒ จากวิทยาลัยทองสุข, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมและบุคคลที่สนใจ รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ฝึกปฏิบัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ทางอาญาและประเด็นสาธารณะโดยใช้สถานการณ์จำลอง ตลอดจนการฝึกปฏิบัติการจัดทำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามประเด็นของสถานการณ์จำลองที่ได้รับมอบหมาย
ทำไมต้องเน้นเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”
ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษคดีเป็นหลัก จนบางครั้งเป็นเหตุทำให้มีคดีได้เข้าสู่ระบบกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นจำนวนมากโดยมิได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในสังคม โดยการส่งเสริมให้มีการยุติข้อพิพาท ในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือชั้นพนักงานอัยการเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชน ได้กระทำความผิดอาญาซึ่งต้องถูกลงโทษ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอย่างที่ไม่อาจที่จะ หลีกเลี่ยงได้
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรที่จะได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิม ที่เน้นในเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน” (Retributive Justice) มาเป็นแนวคิดใหม่ โดยการเน้นเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” (Restorative Justice) แทน ทั้งนี้โดยมองว่า ปัญหาอาชญากรรมนั้นไม่ใช่เรื่องที่กระทำต่อรัฐหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่กระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่าง “ผู้กระทำผิด” “ผู้เสียหาย” และ “ชุมชน” ด้วย ดังนั้น ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจึงควรที่จะต้องเข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในการเข้ามาแก้ไขปัญหาทั้งระบบโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อสร้างสันติสุขและการนำความสมานฉันท์กลับคืนสู่สังคมหรือชุมชนในที่สุด