สอศ. สร้างพื้นที่แห่งโอกาส ยกระดับการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา เน้นการดูแลและการส่งต่อผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ สู่การมีงานทำ
วันที่ 26 เมษายน 2566 เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเทคนิคการดูแลและการส่งต่อผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ภายใต้โครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ตามนโยบายของ สอศ. โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษา เปิดโอกาส สร้างเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ตามนโยบายรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีองค์ความรู้เรื่องการจัดการศึกษาพิเศษ สำหรับผู้เรียนพิการอาชีวศึกษา และร่วมจัดทำแผนการดำเนินงานส่งต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่การมีงานทำ โดยมีหลักสูตรการปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันและการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางการมองเห็น /ทางการได้ยิน/ทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย หลักสูตรวัฒนธรรมของคนหูหนวก/เทคนิคการใช้ภาษามือไทยขั้นพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในชั้นเรียน/เทคนิคการสร้างสื่อการเรียนการสอนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนพิการ และการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลเพื่อการมีงานทำและการปรับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนผู้มีความต้องการพิเศษ
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ตนมีความมุ่งหวังว่า จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการระดมความคิดจากผู้บริหาร ครู และบุคลากรผู้เกี่ยวข้องร่วมกันวิเคราะห์หาแนวทางการดำเนินงานการเข้าถึงและขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อคนพิการ ยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพและมีศักยภาพ ซึ่งสถานศึกษา และครู ต้องนำองค์ความรู้ เร่งพัฒนาอาชีพระยะสั้น (Up Skill, Re Skill) ให้กับผู้เรียนและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ในสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 54 แห่ง โดย สอศ. ดำเนินการแล้วจำนวน 50 อาชีพ อาทิ อาชีพไพ่ยิปซีสำหรับคนพิการทางการเห็น อาชีพการนวดฝ่าเท้าสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน และอาชีพการทำกระเป๋าหนังสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จึงต้องสร้างเครือข่าย ปักหมุด และตอกย้ำความสำเร็จ ความก้าวหน้าของศูนย์ฯ ที่จัดตั้งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันผลักดัน พลิกโฉม หาเทคนิค วิธีการจัดการเรียนการสอน การดูแลผู้เรียนพิการ และการสร้างสื่อการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะทักษะอาชีพ เพื่อเป็นผู้ประกอบการ และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการจัดทำแผนการดำเนินงาน การจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ เพื่อส่งต่อผู้เรียนพิการสู่การมีงานทำ สู่เป้าหมายในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ ต่อไป
รองเลขาธิการ กล่าวในตอนหนึ่งจากการบรรยายพิเศษว่า “ครู คือ คนสำคัญที่จะเปลี่ยน ความพิเศษ ให้เป็น พลัง สร้างลูกศิษย์ให้ก้าวต่อไปในโลกว้างอย่างไม่รู้สึกว่าตัวเองขาดอะไรไป”
ทั้งนี้มีผู้เรียนและประชาชนที่ได้รับการพัฒนาแล้ว จากสถานศึกษาในโครงการ 34 แห่ง จำนวน 800 คน ได้แก่ ผู้บกพร่องทางการได้ยิน 350 คน ผู้บกพร่องทางการเคลือนไหว 250 คน ผู้บกพร่องทางสติปัญญา 50 คน ผู้บกพร่องทางออทิสติก 50 คน และผู้ดูแลคนพิการ 100 คน โดยมีผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วม จำนวน 83 คน ระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน 2566 จัดโดยศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา (ศพอ.)