ผลงาน “ผงซุปผักไชยาสำเร็จรูป” คว้ารางวัลเหรียญทอง จากเวที Japan Design, Idea and Invention Expo ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิตดา ทองขาว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา สุดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมพร ทองเมือง วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ นำผลงานวิจัย “ผงซุปผักไชยาสำเร็จรูป” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงาน ในเวที “Japan Design, Idea and Invention Expo” (JDIE 2023) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ณ Tokyo Ariake Garden Convention Center, Japan กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยผลงานของนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง (Gold Medal Award from JDIE 2023) และรางวัล (Special Award from INNOPA) จากองค์กรนานาชาติ ซึ่งมีผลงานเข้าประกวดและจัดแสดง มากกว่า 300 ผลงาน
ทีมนักวิจัยฯ กล่าวว่า ผลงาน “ผงซุปผักไชยาสำเร็จรูป VGet: Natural High Carotenoids and Dietary Fiber Soup” เป็นผงซุปสำเร็จรูปผลิตจากส่วนยอดอ่อนและใบของผักไชยา (Cnidoscolus chayamansa Mc Vaugh) มีรสชาติคล้ายผงชูรส (Umami taste) ซึ่งใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหาร โดยสามารถใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่มีสารเคมี หรือเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบได้ ผงซุปสำเร็จรูปนี้เตรียมสำหรับบริโภคได้ง่าย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพ และผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติโดยเฉพาะกลุ่มมังสวิรัติบริสุทธิ์ (Pure Vegetarian หรือ Vegan) โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียตะวันออกที่นิยมบริโภคอาหารประเภทซุป ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสทางค้าหรือขยายตลาดในระดับนานาชาติได้
“สำหรับผลงานดังกล่าวเป็นการช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ให้สามารถเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการดีและช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมให้มีความยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบายเป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และสุดท้ายเป้าหมายที่ 17 เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ทีมนักวิจัยฯ กล่าวทิ้งท้าย