“กระดาษกล้วยหอมทอง” ผลงานนักวิจัยสวนสุนันทา คว้ารางวัลระดับนานาชาติ งานประกวด JDIE 2023 ประเทศญี่ปุ่น

ผลงาน “กระดาษกล้วยหอมทอง” นักวิจัยสวนสุนันทา คว้ารางวัลระดับนานาชาติ ในงานประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม JDIE 2023 ประเทศญี่ปุ่น

อาจารย์ ดร.ภานุ พัฒนปณิธิพงศ์  รองศาสตราจารย์ ดร.รจนา จันทราสา อาจารย์ประจำแขนงวิชาการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และMs.Warittha Wannathong, Urban Governance Specialist, Asian Disaster Preparedness Center นำผลงานวิจัย “กระดาษกล้วยหอมทอง : Hom Thong Banana Paper” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงาน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ณ Tokyo Ariake Garden Convention Center, Japan กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผลงานปรากฏว่าทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินและรางวัลพิเศษ (WIIP SPECIAL AWARD) ในเวที “Japan Design, Idea and Invention Expo” (JDIE 2023)

อาจารย์ ดร.ภานุ พัฒนปณิธิพงศ์ กล่าวว่า “กระดาษกล้วยหอมทอง : Hom Thong Banana Paper” ผลิตจากต้นกล้วยหอมทองเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยว รวมถึงต้นกล้วยล้มที่เสียหายจากลมพายุ กระดาษจากกล้วยหอมทองนี้เป็นกระดาษทำมือ (hand-made paper method) ประกอบด้วยเส้นใยกล้วยธรรมชาติ 100 % เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ มีความเหนียว แข็งแรง ต้านทานต่อการฉีกขาดและมีความต้านทานต่อแรงดึง เนื้อกระดาษและผิวสัมผัสละเอียดเนียน ชะลอการซึมซับน้ำ สามารถนำไปใช้ในงานผลิตภัณฑ์หัตถอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม งานบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพที่สามารถใช้สัมผัสกับอาหารได้ปลอดภัย

สำหรับผลงานวิจัยชิ้นนี้ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทอง เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้เพิ่มในครัวเรือน รวมถึงเป็นการขจัดความยากจนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้วัสดุธรรมชาติในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเศรษฐกิจระดับชาติ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเป้าหมายการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยสอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 1 การยุติ การหยุดยั้ง การขจัดความยากจนในชุมชนและชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 9 การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของมนุษย์ เป้าหมายที่ 12 การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 17 การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

Next Post

ม.รังสิต ให้การต้อนรับอธิการบดี Wakayama College of Global Business ประเทศญี่ปุ่น

Thu Jul 20 , 2023
            ฝ่ายญี่ปุ่นสัมพันธ์ และวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้การต้อนรับ Mr. Yasuhiro Yabuzoe และคณะผู้บริหาร จาก […]