สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งพัฒนาการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและชุมชนในการพัฒนาคนให้นำประเทศสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา ภาคกลางตอนบน จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษารับสนองนโยบายดังกล่าว ซึ่งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพร แสงสว่าง ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ภาคกลางตอนบน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และหัวหน้าศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เผยว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงประจำปี 2566 มีทั้งหมด 22 โรงเรียนเครือข่าย โรงเรียนชุมชนวัดพิชิตปิตยาราม จังหวัดปทุมธานี กิจกรรม“การทำผ้าพิมพ์ลาย เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพลงสู่นักเรียน” และโรงเรียนวัดมูลจินดาราม “การทำผ้ามัดย้อม เพื่อสร้างทักษะอาชีพ” ทั้งสองกิจกรรมเป็นการเข้าร่วมดำเนินโครงการที่ 4 บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ชุมชน การจัดการเรียนรู้ พัฒนาสู่ผู้เรียน อย่างมีขั้นตอนและเหมาะสมตามช่วงชั้นของวัย เพื่อให้คณะครูเข้าร่วมโครงการ ได้นำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดออกแบบแผนจัดการเรียนรู้พัฒนาสู่นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย พร้อมเก็บผลประเมินรายงานหลักฐานความสำเร็จช่วยอาจารย์พี่เลี้ยงประจำโรงเรียน โดยการสร้างความคิดนอกกรอบ สู่การคิดเชิงนวัตกรรม ด้วยกระบวนการ 5I จาก รศ.ดร.สมเจตน์ ทินพงษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประกอบด้วย เกิดแรงบันดาลใจ (Inspiration) มีจินตนาการ (Imagination) ในการเกิดความคิดสร้างสรรค์ (Ideation) สร้างสิ่งคิดค้นใหม่ ๆ จนเกิดเป็นนวัตกรรม (Innovation) ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ นำมาประยุกต์ ใช้ในการพัฒนาด้านทักษะอาชีพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาและชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ของโรงเรียนเครือข่ายให้ไปสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม
นางเสาวนีย์ สมบูรณ์ศิโรรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดพิชิตปิตยาราม เผยว่า เป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับนักเรียนที่นี่ ขยายโอกาสให้นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ มีผลต่อการสร้างอาชีพในระยะยาว คุณครูถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน นักเรียนไปต่อยอดให้กับครอบครัว โดยผ้าพิมพ์ลาย กระบวนการในการทำ ต้นทุนไม่แพง สามารถทำได้จริง สามารถประกอบอาชีพได้ คาดหวังว่าแบ่งเบาภาระให้กับสังคม ทางโรงเรียนต้องขอบคุณทาง มทร.ธัญบุรี ที่ได้ถ่ายองค์ความรู้และสนับสนุนงบประมาณให้กับทางโรงเรียน และทางโรงเรียนจะนำองค์ความรู้ที่ได้ นำไปจัดกิจกรรมให้กับชุมชน ศิษย์เก่า นักเรียน ในงานครบรอบ 100 ปี ของทางโรงเรียนชุมชนวัดพิชิตปิตยาราม
ทางด้านนางนัยนา รอดแถม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมูลจินดาราม เผยว่า ต้องการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนเสริมทักษะอาชีพให้กับเด็ก สร้างรายได้ในอนาคต ซึ่งทางโรงเรียนต้องการอาชีพที่เป็นรูปธรรม สำหรับวันนี้ได้ส่งครูสาระการเรียนอาชีพ และแกนนำนักเรียนเข้าร่วม เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดให้กับคุณครูและนักเรียนคนอื่น ๆ โดยเป็นปีแรกที่ทางโรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ หวังว่าคุณครูนำไปขยายผลต่อ และส่งเสริมอาชีพให้กับนักเรียนต่อไป
อาจารย์สุระจิตร แก่นพิมพ์ วิทยากร สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย แขนงออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ภาควิชา ศิลปะการออกแบบเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เล่าว่า ผ้าพิมพ์ลาย Eco Print งานศิลป์ที่ลงทุนน้อยมาก นำใบไม้ วัสดุธรรมชาติ มาพิมพ์ลงบนพื้นผ้า ต่อยอดได้ง่าย ทำเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ หรือ กระเป๋า เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการวางลาย ผ้าพิมพ์ลายแต่ละผืน มีลวดลายและสีที่แตกต่างกัน ใบไม้แต่ละชนิดให้สีแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับพื้นถิ่นนั้น ๆ ส่วนการทำผ้ามัดย้อม จากสีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นอีกทางเลือกในการสร้างรายได้ นำไปปรับใช้ประยุกต์ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยลวดลายแตกต่างของแต่ละชิ้นงาน เป็นเสน่ห์ของการทำผ้ามัดย้อม ในการถ่ายทอดความรู้ทั้งสององค์ความรู้ ให้องค์ความรู้ตั้งแต่การเลือกผ้า แหล่งขายผ้าที่ถูก และเทคนิคในการพิมพ์ลายผ้า การมัดผ้า จากการสังเกตคุณครูให้ความร่วมมือ หวังว่าผ้าพิมพ์ลายและผ้ามัดย้อมสร้างองค์ความรู้และนำไปต่อยอดให้กับโรงเรียนต่อไป
“มหาวิทยาลัยนวัตกรรม ที่สร้างคุณค่าสู่สังคมและประเทศ” ตามแนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย โดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้บริการแก่ชุมชนท้องถิ่น มุ่งแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาในพื้นที่พัฒนาด้านการจัดการเรียนการสอน การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและท้องถิ่นเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้ครู นักเรียน และชุมชนร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น