นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เผยถึงรางวัล 2 เหรียญทอง ในการส่งผลงาน “โดรนสำรวจด้วยกล้องอินฟราเรดควบคุมทางไกลด้วยระบบ 4G” ร่วมประกวดในงาน “The 17th International Warsaw Invention Show” ณ Warsaw University of Technology กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ ว่า จากการส่งเสริมของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมให้ทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ส่งนักวิจัยซึ่งเป็นโครงการหนูน้อยจ้าวเวหาไทยพีบีเอส มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้รับ 2 เหรียญทอง จากผลงาน “โดรนสำรวจด้วยกล้องอินฟราเรดควบคุมด้วยระบบ 4G” เหรียญทอง IWIS2023 และเหรียญทอง Croatian Union of Innovators จากสาธารณรัฐโครเอเชีย ต้องขอชื่นชม นายญาณกร แจ่มจำรัส และทีมงาน ที่ตั้งใจและสร้างผลงานเข้าตากรรมการบนแผ่นดินของทวีปยุโรป หลังนำโดรน ตรวจับความเคลื่อนไหวในที่มืด ส่งแข่งขันในงานสิ่งประดิษฐ์ ที่ประเทศโปแลนด์ครั้งนี้ ทำให้ปีนี้ ทางสมาคมฯ ส่งทีมนักวิจัยกวาดรางวัลมาแล้วทั้งสิ้น 9 ประเทศ ประกอบด้วย จีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, เยอรมันนี, เกาหลีใต้, ฮ่องกง และ โปแลนด์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที IWIS 2023 ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ รวมทั้ง วช.จะได้ส่งเสริมการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพและการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อย่างเป็นมาตรฐานต่อไป
สำหรับ 7 หน่วยงานจากประเทศไทยที่ร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการคว้ารางวัลจากเวที “The 17th International Warsaw Invention Show” ได้แก่
• มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
• สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
• บริษัท ดอกบัวคู่ จำกัด
• บริษัท มิดเดิล ไลฟ์ จำกัด
• โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่
เกี่ยวกับงาน IWIS
IWIS เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในโปแลนด์และเป็นหนึ่งในงานระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ฉบับล่าสุด IWIS มีตัวแทนจากหลายประเทศในเอเชีย แอฟริกา อเมริกา และยุโรป เช่น ซาอุดีอาระเบีย โครเอเชีย อียิปต์ อิหร่าน แคนาดา มาเลเซีย เกาหลี และสหราชอาณาจักร เมื่อปีที่แล้วนักประดิษฐ์ชาวโปแลนด์และนานาชาตินำเสนอสิ่งประดิษฐ์มากกว่า 400 รายการ โซลูชันเหล่านี้ให้ภาพรวมของการพัฒนาด้านเทคนิค ซึ่งบางส่วนนำไปใช้ในทางปฏิบัติ ในแต่ละปี International Warsaw Invention Show จะมาพร้อมกับการบรรยายและการสัมมนาเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการให้สิทธิบัตร
#https://study-d.com/