โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร(ฝ่ายประถม) และ สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดการแสดงโขนเด็กรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นการแสดงประจำปีของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร(ฝ่ายประถม) ปี 2567 นี้นับเป็นปีที่ 42 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกับทางโรงเรียนฯ และ สมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร(ฝ่ายประถม) จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 รอบที่ 1 และ 2 โดยมี นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ ผศ.ดร.รุ่งทิวา แย้มรุ่ง คณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นประธานเปิดงาน ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคุณณัฐภา บุญงาม ผู้อำนวยการ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 โดยมี นายกิตติพจน์ บูรณะบุญวงศ์ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
รศ.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประธานเปิดงานฯ กล่าวชื่นชมเด็ก ๆ สาธิตประถมฯ ที่ร่วมใจสืบสานวัฒนธรรมไทย ด้วยการแสดง โขนเด็กรามเกียรติ์ ชุดศึกอินทรชิต ตอน “ศรนาคบาศ” รำเบิกโรงชุด “ศรีรามวงศ์อโยธยา” การแสดงดนตรีร่วมสมัย ชุด “เพลงของพ่อ แสงทอวันใหม่” และการแสดงละครประยุกต์เรื่อง “หนังสือแห่งกาลเวลา” โดยกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนักเรียนได้ตระหนักและเกิดความซาบซึ้งในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการอนุรักษ์และสื่อสารการแสดงโขนเยาวชน รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียน ได้แก่ศักยภาพของตนเอง ด้วยการนำองค์ความรู้จากการเรียนวิชานาฏศิลป์ มาใช้ในการแสดง
ผศ.ดร.นพดล กองศิลป์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร(ฝ่ายประถม) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดการแสดงประจำปีว่า การแสดงโขนเด็กรามเกียรติ์ ชุดศึกอินทรชิต ตอน “ศรนาคบาศ” และการแสดงละครประยุกต์เรื่อง “หนังสือแห่งกาลเวลา” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนักเรียนได้เกิดแรงบันดาลใจความคิดสร้างสรรค์ตลอดจนการทำงานร่วมกันเป็นทีม เกิดความตระหนักและความซาบซึ้งในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพของตนเองนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในการเรียนรู้ได้
ผศ.สมเกียรติ วรรณเฉลิม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร(ฝ่ายประถม) เผยถึงการคัดเลือกตัวนักแสดงโขนเด็กว่า ทางโรงเรียนมีการเรียนการสอนโขนตั้งแต่ ป.4 จนถึง ป.6 โดยช่วงแรกเราจะดูรูปร่างของนักเรียนก่อนว่า ใครตัวใหญ่ก็จะให้เล่นบทยักษ์ หน้าดลมรูปไข่ก็จะได้บทพระ และรูปร่างเล็ก ก็จะให้เล่นบทลิง หลังจากนั้นก็จะดูเด็กที่มีพรสวรรค์ ก็จะดึงมาฝึกซ้อม เด็กเหล่านี้ก็จะมีความสามารถติดตัวไปตลอด โดยโรงเรียนเรา ถือว่าเป็นโรงเรียนต้นแบบอนุรักษ์โขน เพราะเราให้เขาเรียนตั้งแต่เด็กไปจนถึงตอนโต
การแสดงโขนเด็กรามเกียรติ์ ประกอบไปด้วย
การแสดงชุดที่ 1 การแสดงรำเบิกโรงโขน ชุด “ศรีรามวงศ์อโยธยา”
การแสดงชุดที่ 2 การแสดงดนตรีร่วมสมัย ชุด “เพลงของพ่อ แสงทอวันใหม่”
การแสดงชุดที่ 3 การแสดงโขนเด็กรามเกียรติ์ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน “ศรนาคบาศ”
การแสดงชุดที่ 4 การแสดงละครประยุกต์เรื่อง “หนังสือกาลเวลา”
การแสดงโขนเด็กรามเกียรติ์ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน “ศรนาคบาศ”และการแสดงละครประยุกต์เรื่อง “หนังสือแห่งกาลเวลา” เป็นการแสดงของนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งนักเรียนในโครงการหลักสูตรนานาชาติ (PPIP) ขอโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร(ฝ่ายประถม) เข้าร่วมแสดงจำนวนกว่า 1,900 คน ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
#https://study-d.com/