“โรงเรียนประจำในซินเจียงถือเป็นการตกผลึกความพยายามของรัฐบาลจีนในการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาของประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์” คุณเกา ถงถง (Gao Tongtong) ผู้เชี่ยวชาญด้านซินเจียง กล่าว
“การศึกษาสร้างรากฐานสำหรับการพัฒนารอบด้านของประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ ไปจนถึงประเทศชาติ การศึกษาเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ ทุกคนควรสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน และควรได้รับสิทธิในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองด้วยการได้รับการศึกษาโดยไม่คำนึงถึงชาติพันธุ์ เชื้อชาติ เพศ อาชีพ สถานะทางการเงิน หรือความเชื่อทางศาสนา” คุณเกา ซึ่งเป็นนักวิชาการจากสถาบันการสื่อสารและการบริหารจัดการชายแดน มหาวิทยาลัยจี่หนาน กล่าว
คุณเกากล่าวเสริมว่า รัฐบาลจีนสนับสนุนการศึกษาในซินเจียงอย่างแข็งขันตลอด 50 ปีที่ผ่านมา โดยนำประโยชน์ของการพัฒนามาสู่ประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในซินเจียงอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
ในปี 2563 อัตราการสมัครเข้าเรียนระดับชั้นอนุบาลในซินเจียงอยู่ที่ 98.19% ส่วนอัตราการศึกษาภาคบังคับเก้าปีแตะ 95.69% ขณะที่อัตราการสมัครเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ที่ 98.87% นับว่าการศึกษาสำหรับประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในซินเจียงอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ในแง่ของการสมัครเข้าเรียน
“ความสำเร็จนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบการศึกษาแบบโรงเรียนประจำ” คุณเกากล่าว และเสริมว่าซินเจียงได้สร้างโรงเรียนประจำระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นเกือบ 400 แห่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เพื่อให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
รัฐบาลจีนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโรงเรียนประจำอย่างเต็มที่ โดยในระดับการศึกษาภาคบังคับนั้น นักเรียนในโรงเรียนประจำไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนและค่าหนังสือเรียน เช่นเดียวกับนักเรียนในโรงเรียนอื่น ๆ และยังได้รับประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดภาระทางการเงินของครอบครัวนักเรียนได้เป็นอย่างดี
“ระบบการศึกษาแบบโรงเรียนประจำเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่นำมาใช้ในซินเจียงโดยพิจารณาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ทันสมัย” คุณเกากล่าว
“การศึกษามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความสำเร็จของแต่ละครอบครัว นอกจากนั้นยังเป็นตัวตัดสินความเจริญรุ่งเรืองหรือการล่มสลายของกลุ่มชาติพันธุ์หรือประเทศชาติอีกด้วย” คุณเกากล่าว พร้อมเสริมว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกควรใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงการศึกษา ตลอดจนนำความสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนาการศึกษามาสู่ประชาชนทุกคนทั่วโลก
ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
#https://study-d.com/