สมาคมโรคเบาหวานฯ ผนึกพลังภาคีเครือข่าย
จัดงานมหกรรมสุขภาพเนื่องในวันเบาหวานโลก 2566
ชูแคมเปญ “รู้ว่าเสี่ยง รู้แล้วต้องเปลี่ยน” เลี่ยงเบาหวาน
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายคนไทยไร้พุง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักอนามัย กทม. กรมควบคุมโรค สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย เครือข่ายชมรมเบาหวานไทย ชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน กลุ่มเพื่อนเบาหวาน และภาคีภาคเอกชน โดยถือเอาวันเบาหวานโลก 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมรวมพลังรณรงค์การสร้างความรับรู้ (diabetes awareness) ในปีนี้มีการจัดงาน “มหกรรมสุขภาพเนื่องในวันเบาหวานโลก 2566” ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ ประธานจัดงานวันเบาหวานโลก และเลขาธิการสมาคมโรคเบาหวาน กล่าวว่า เบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable diseases: NCDs) ที่คุกคามประชากรทั่วโลก ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลของ IDF Atlas ปี 2021 พบว่ามีผู้เป็นเบาหวานทั่วโลกมากกว่า 530 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว รวมทั้งผู้ใหญ่วัยต้นช่วงอายุน้อยกว่า 30 ปี ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก กลุ่มประเทศที่มีอัตราเพิ่มขึ้นรวดเร็ว อยู่ในแถบแอฟริกา แปซิฟิกตะวันตก และเอเชียตะวันออกฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย
“เบาหวานที่เกิดในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว และผู้ใหญ่วัยต้นนั้น มีข้อมูลชี้ชัดว่าการดำเนินโรคมีความรุนแรงกว่าเบาหวาน ที่เกิดในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ รวมถึงตอบสนองต่อการรักษาได้น้อยกว่า นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่า สร้างความสูญเสียอย่างมากทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรในวัยทำงาน นำมาสู่ความร่วมมือในการรวมพลังต่อสู้เบาหวาน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชม สังคม และหน่วยงานองค์กรวิชาชีพ” และจากการศึกษาอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานใน 4 จังหวัดภาคเหนือในโครงการ T1DDAR CN พบว่าหลังการระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่ในเด็กและวัยรุ่น เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาด
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวเสริมว่า เบาหวานจัดเป็นโรคเรื้อรังที่กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก และสถานการณ์ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง ยังคงมีผู้เป็นเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย และมีผู้ที่เป็นเบาหวาน 5 คนใน 11 คน ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ตระหนักถึงอาการและความเสี่ยง ทำให้ตรวจคัดกรองล่าช้า และถ้าไม่ได้รักษาอย่างเหมาะสม จะเกิดโรคแทรกซ้อนในอวัยวะต่าง ๆ ที่พบบ่อยมีทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานขึ้นจอประสาทตา โรคไตวายจากเบาหวาน รวมถึงหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ระบบประสาทชา เท้าเป็นแผลเรื้อรังไม่หายจนต้องตัดขา เบาหวานที่ควบคุมไม่ดีจะนำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนมากมาย ขณะนี้โรคเบาหวาน ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่อ้วน รวมถึงคนวัยทำงานคือกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ปัจจุบันเบาหวานในเด็กและวัยหนุ่มสาวพบมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคอ้วนในเด็กที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม พ่อแม่จึงจำเป็นต้อง รู้วิธีการดูแลลูก ให้ใช้ชีวิตอย่างสมดุล ทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการนอน จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างสมวัย ไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งจะเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงเบาหวานในอนาคต ซึ่งการดูแลเด็กอาจยุ่งยากและซับซ้อนกว่าการรักษาผู้ใหญ่”
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลการลงทะเบียนผู้ป่วยเบาหวานในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปีในประเทศไทย พบว่า ผู้ป่วยที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี 72% จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่มีสาเหตุจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายตับอ่อน ทำให้ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ส่วนกลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไปมักจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ปัจจุบันพบถึง 61% สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่กินอาหารที่พลังงานสูง กินผักน้อย ชอบบริโภคขนมหวาน หรือเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลมากเกินพอดี รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตเนือยนิ่ง ขาดการออกกำลังกาย และการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ
“จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยเห็นได้ชัดว่า เบาหวานชนิดที่สองในคนอายุต่ำกว่า 15-30 ปี จะเยอะขึ้น และลดลงหลังอายุ 70 ปี คนที่เป็นมาแล้วมักเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน การที่คนไทยเป็นโรคอ้วนมากขึ้น ทำให้เบาหวาน และโรคในกลุ่ม NCDs อื่น ๆ ควบคุมได้ยากขึ้นด้วย ที่น่าห่วงคือกลุ่มคนวัยทำงานที่ไม่ตระหนักถึงอาการของเบาหวานหรือความเสี่ยงของตนเอง และได้รับการตรวจคัดกรองที่ล่าช้า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หากคนในวัยนี้ไม่ดูแลสุขภาพ เมื่อเข้าสู่วัยชราปัญหาสุขภาพต่างๆก็จะตามมาอย่างแน่นอน ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของครอบครัวและประเทศ ”ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว ถึงแนวทางการป้องกันโรคเบาหวานเพิ่มเติมว่า
หลักสำคัญที่ทุกคนทำได้คือ ดูแลอาหารการกิน หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด เค็มจัด มันจัด หมั่นออกกำลังกาย ขยับตัว เดินเยอะๆในการใช้ชีวิตประจำวัน ดูแลอารมณ์ การนอนหลับและรักษาน้ำหนักตัวให้สมดุล หากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ก็สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวานได้ หรือคนที่เป็นเบาหวานแล้วไม่นาน ก็มีโอกาสกลับไปสู่ภาวะปกติจนสามารถลดการใช้ยาได้ เรียกว่า “เบาหวานระยะสงบ” พฤติกรรมชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ขณะเดียวกันการตรวจคัดกรองด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ก็จะช่วยให้ทราบความเสี่ยงได้เร็ว และจัดการดูแลให้เหมาะสมได้ทันท่วงที
ซึ่งสอดคล้องกับ แคมเปญวันเบาหวานโลก ในปี 2566 ของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ( IDF: International Diabetes Federation) ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญ ในการรู้ถึงความเสี่ยงของโรค และภาวะแทรกซ้อน สามารถชะลอหรือป้องกันได้โดยการปรับและรักษานิสัยที่ดีต่อสุขภาพ หากตรวจพบและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงและอาจถึงแก่ชีวิตได้